วันอังคารที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2560

หน้าหลัก


ประวัติพระผู้มีพระภาคเจ้า


ดับขันธปรินิพพาน


ในสมัยนั้นมีปริพาชกผู้หนึ่งนามว่า สุภัททะ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลชาวเมือง
กุสินารา ปรารถนาจะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อทูลถามข้อข้องใจในธรรม เกี่ยวกับลัทธิ
ของครูทั้ง ๖ ซึ่งต่างอ้างว่าเป็นผู้ได้ตรัสรู้ธรรมสำเร็จอรหันต์นั้น สมคำปฏิญาณจริง
หรือไม่ พระพุทธองค์เห็นว่าเวลาเหลือน้อย จึงตรัสห้ามและทรงแสดงอริยมรรค
มีองค์ ๘ โปรด สุภัททปริพาชกเกิดความเลื่อมใสกล่าวสรรเสริญพระธรรมเทศนา
ทูลขอบรรพชาในพระพุทธศาสนา ได้บรรลุพระอรหัตผลในราตรีนั้น นับเป็นพุทธสาวก
องค์สุดท้ายที่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทันพระชนม์ชีพของพระบรมศาสดา



ประทานปัจฉิมโอวาท


          เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดสุภัททปริพาชกแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสแก่
พระอานนท์ว่าให้ภิกษุทั้งหลายลงพรหมทัณฑ์ต่อพระฉันนะ อดีตมหาดเล็กผู้ถือว่าตน
มีความสำคัญกว่าผู้ใด จึงเป็นผู้ว่ายากสอนยาก ไม่ยอมฟังคำของพระเถระอื่นๆ การลง
พรหมทัณฑ์ คือ ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงให้โอวาท ไม่พึงสั่งสอน
ไม่พึงเจรจาคำใด ๆ ด้วยทั้งสิ้น ภายหลังพระฉันนะจึงยอมสำนึกตัวและในที่สุดได้
ปฏิบัติธรรมจนบรรลุพระอรหัตผล ต่อมาพระพุทธองค์ได้ประทานโอวาท
แก่ภิกษุทั้งหลายว่า
“เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ไม่ควรคิดว่าพระศาสดาของเราปรินิพพานแล้ว
พระศาสดาของเราไม่มี ด้วยแท้ที่จริง ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่ตถาคตแสดง
และบัญญัติไว้ จะเป็นศาสดาแทนตถาคต”

        และได้ประทานปัจฉิมโอวาทว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ ตถาคตขอเตือน
เธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลาย เสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลาย
จงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”
“ภิกษุทั้งหลาย สติ เมื่อเกิดขึ้นก็รู้ว่า ธรรมเหล่านี้มีประโยชน์ ธรรมเหล่านี้
ไม่มีประโยชน์ ธรรมเหล่านี้มีอุปการะ ธรรมเหล่านี้ไม่มีอุปการะ ลำดับนั้น
พระโยคาวจรก็กำจัดธรรมอันไม่มีประโยชน์เสีย ถือเอาธรรมที่มีประโยชน์
ละธรรมที่ไม่มีอุปการะเสียถือเอาแต่ธรรมที่มีอุปการะ ดังนี้”



ดับขันธปรินิพพาน

เมื่อพระบรมศาสดาประทานปัจฉิมโอวาทเป็นวาระสุดท้ายแล้วก็มิได้ตรัสอะไรอีกเลย
ทรงเข้าอนุปุพพวิหารสมาบัติทั้ง ๙ โดยอนุโลมและปฏิโลม ดังนี้
         ทรงเข้าปฐมฌาน   (รูปฌานที่ ๑)       ออกจากปฐมฌานแล้ว
         ทรงเข้าทุติยฌาน   (รูปฌานที่ ๒)      ออกจากทุติยฌานแล้ว
         ทรงเข้าตติยฌาน   (รูปฌานที่ ๓)      ออกจากตติยฌานแล้ว
         ทรงเข้าจตุตถฌาน (รูปฌานที่ ๔)      ออกจากจตุตถฌานแล้ว
         ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ             ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว
         ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ               ออกจากวิญญาณัญจายตนะแล้ว
         ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ               ออกจากอากิญจัญญายตนะแล้ว
         ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ      ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว
         ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติที่ ๙ อันเป็น นิโรธสมาบัติ ที่มีอาการสงบที่สุด
ถึงดับสัญญาและเวทนา คือ ไม่รู้สึกทั้งกายทั้งใจทุกประการ แม้ลมหายใจเข้าออก
ก็หยุดสงบยิ่งกว่านอนหลับ จากนั้นเสด็จออกจาก สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ
ถอยเข้าสู่เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือถอยตามลำดับจนถึงปฐมฌาน แล้วย้อนจาก
ปฐมฌานขึ้นไปสู่ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานเป็นลำดับสุดท้าย
จึงดับขันธปรินิพพาน



          หลังจากที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ได้บังเกิดมหัศจรรย์แผ่นดินไหว กลองทิพย์บรรเลงเสียงกึกก้องกัมปนาท
ท้าวสหัมบดีพรหม ท้าวโกสีย์สักกเทวราช พระอนุรุทธเถระและพระอานนท์เถระ
เป็นอาทิ ได้กล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงความไม่เที่ยง
แห่งสังขาร ด้วยความเคารพเลื่อมใส เหล่ามหาชนพุทธบริษัททั้งหลายที่ประชุมกันอยู่
ณ สาลวันนั้นต่างก็โศกเศร้าร้องไห้ร่ำไรรำพัน พระอนุรุทธเถระและพระอานนท์เถระ
ได้แสดงธรรมกถาปลอบ เพื่อให้คลายความเศร้าโศกโทมนัส

การถวายพระเพลิงพระบรมศพ

          เหล่ามัลลกษัตริย์ทั้ง ๘ ร่วมกับพระเถระผู้ใหญ่ มีพระอนุรุทธเถระ และ
พระอานนท์เถระเป็นต้น ได้ให้ตั้งพระบรมศพไว้เป็นเวลา ๗ วัน ณ อุทยานสาละ
อันเป็นสถานที่ปรินิพพานเพื่อรอพระเถระที่เดินทางมาจากทิศต่างๆ ในวันที่ ๘
จึงได้จัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพขึ้น ณ มกุฏพันธนเจดีย์ กรุงกุสินารา แคว้นมัลละ
อันเป็นมงคลสถานสูงสุดของเมืองกุสินารา และได้ทำการถวายพระเพลิงใน
วันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งชาวพุทธเรียกว่าวันอัฏฐมีบูชา ในครั้งแรกเมื่อจัดให้
มีการถวายเพลิงพระบรมศพปรากฏว่าไฟไม่ติด    ครั้นเมื่อพระมหากัสสปเถระ
พร้อมภิกษุสงฆ์ผู้เป็นศิษย์อีก ๕๐๐องค์เดินทางจากปาวานครมาถึง ได้กราบนมัสการ
พระบรมยุคลบาทแล้วได้เกิดเพลิงลุกขึ้นเองเป็นอัศจรรย์
   

              ครั้นพิธีถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว มัลลกษัตริย์ได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
ณ สัณฐาคารศาลา อันเป็นที่ประชุมกลางเมือง ถวายสักการะเป็นเวลา ๗ วัน
มีเจ้าครองนครต่างๆ ได้ส่งทูตมาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุไว้ในสถูปเจดีย์
ไว้สักการะบูชายังเมืองของตน โทณพราหมณ์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้จัดแบ่ง
ให้แก่กษัตริย์ทั้ง ๘ เมือง ดังนี้

             ๑. พระเจ้าอชาตศัตรู แห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
             ๒. เจ้าลิจฉวี แห่งเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี
             ๓. เจ้าศากยะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ
             ๔. ถูลิกษัตริย์ แห่งเมืองอัลลกัปปะ
             ๕. โกลิยกษัตริย์ แห่งเมืองรามคาม แคว้นโกลิยะ
             ๖. มหาพราหมณ์ แห่งเมืองเวฏฐทีปกะ
             ๗. มัลลกษัตริย์ แห่งเมืองปาวา แคว้นมัลละ
             ๘. มัลลกษัตริย์ แห่งเมืองกุสินารา แคว้นมัลละ

           สำหรับตุมพะ คือทะนานที่ใช้ตักแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ โทณพราหมณ์
ได้นำไปบรรจุในพระสถูปเรียกว่า ตุมพสถูป



ที่มาจากพระไตรปิฎก อรรถกถาและคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง


บทภาพยนตร์



พระอานนท์ (เสียงก้องในความคิด)
         สุภัททะ จะขอเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ให้ได้ … นี่เหล่ามัลลกษัตริย์
แต่ละสกุลก็เพิ่งจะเข้าเฝ้าไปเสร็จเรียบร้อยทุกพระองค์     แล้วพระพุทธองค์ก็ทรง
ประชวรหนัก หากเราปล่อยให้พบอีกจะทำให้พระพุทธองค์ ลำบากพระวรกายยิ่งนัก


พระอานนท์
         สุภัททะ เราให้ท่านเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ไม่ได้หรอก เวลานี้พระพุทธองค์
ประชวรหนัก ควรได้พักผ่อนบ้าง


พระพุทธเจ้า
         อานนท์ … ให้สุภัททะเข้ามาเถิด


สุภัททะ
         ในขณะนี้มีสำนักลัทธิที่มีชื่อเสียง มี  ผู้เคารพ นับถือมากมายอยู่ถึง ๖ แห่ง
ในบรรดาครูทั้ง ๖ นี้ มีท่านไหนเป็นพระอรหันต์หมดสิ้นกิเลสบ้าง


พระพุทธเจ้า
         สุภัททะ ศาสนาใดไม่มีมรรคอันมีองค์แปดประการ สมณะผู้สงบก็ไม่มี
ในศาสนานั้น … หากภิกษุหรือใครก็ตาม ปฏิบัติตามมรรค อันเป็นทางประเสริฐ โลกก็จะไม่พึงว่างจาก พระอรหันต์  เธอจงตั้งใจฟังธรรมะจากเราเถิด
จิตนี้เป็นธรรมชาติที่ผ่องใสมีรัศมีเหมือนดวงจันทร์ แต่ถูกกิเลสที่จรมาเป็นครั้งคราว จิตนี้จึงเศร้าหมองเหมือนก้อนเมฆบดบังดวงจันทร์ให้อับแสง



สุภัททะ
         พระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์แสดงนั้นเป็นธรรมอันประเสริฐ ข้าพระพุทธองค์หลงผิดมาเป็นเวลาช้านานขอทรงอนุญาตให้ข้าพระพุทธองค์
บวชในพระพุทธศาสนาด้วยเถิด …



พระพุทธเจ้า
         อานนท์ … เธอจงรับเป็นธุระ จัดการบวชให้สุภัททะด้วยเถิด


พระพุทธเจ้า
        สุภัททะ … เธอจงพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ...รูป และนามทั้งหลาย
ตามความเป็นจริง คือ ความเปลี่ยนแปลงเน่าเปื่อยไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน
ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ไม่ใช่เขา
ไม่ใช่ของเขา ไม่ใช่ตัวตนของเขา
        สุภัททะ...เธอจงดำรงเพศบรรพชิต โดยการถืออาหารบิณฑบาต อาศัย
ผ้าบังสุกุลจีวรอยู่ตาม รุกขมูลเสนาสนะ รักษาสังขารด้วยยาน้ำมูตร
ให้เป็นไปตามอัตภาพอันควรเถิด



เสียงบรรยาย
         เมื่อพระสุภัททะ รับกัมมัฏฐานจากพระพุทธองค์แล้ว ได้หลีกออกไปบำเพ็ญ
สมณธรรมด้วยความเพียรเพียงผู้เดียว … และบรรลุเป็นพระอรหันต์ในคืนนั้นเอง
นับเป็นพระสาวกองค์สุดท้ายที่ได้สำเร็จพระอรหันต์ทันพระชนม์ชีพของพระพุทธเจ้า



พระพุทธเจ้า
         ภิกษุทั้งหลาย … เมื่อเราปรินิพพานแล้ว พระธรรมวินัยทั้ง  ๘๔,๐๐๐
(แปดหมื่นสี่พัน)พระธรรมขันธ์ จะเป็นครูสอนแทนตัวเรา อย่าได้คิดว่า พระศาสดาของเรา
ปรินิพพานแล้ว ศาสดาของเราจะไม่มีด้วย เพราะแท้จริงแล้ว ธรรมก็ดีวินัยก็ดีที่เราแสดง
และบัญญัติเอาไว้ จะเป็นศาสดาแทนเราต่อไป ภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายจงมีธรรม
และวินัย เป็นที่พึ่งเถิด อย่าได้มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลยแม้ตถาคตก็เป็นแต่เพียง
ผู้บอกทางเท่านั้น



พระอานนท์ (เสียงก้องในความคิด)
         พระพุทธองค์จะทรงทอดทิ้งเรา เสด็จปรินิพพานเสียแล้ว เราสู้อุตส่าห์ติดตาม
พระพุทธองค์มานาน แต่ยังไม่ได้บรรลุพระอรหันต์เหมือนกับพระสาวกอื่นๆ เลย



พระอีกรูปหนึ่ง
        ท่านอานนท์...พระบรมศาสดาให้มาตามท่านเข้าไปเฝ้า



พระพุทธเจ้า
         อานนท์ … มานั่งที่นี่เถิด



พระพุทธเจ้า
         อานนท์ … อย่าได้เศร้าโศกเสียใจไปเลย ธรรมดาสังขารทั้งหลาย
ย่อมไม่เที่ยงแท้ถาวร     ทุกสิ่งมีเกิดก็ย่อมมีดับสลายลงในที่สุด …
เธอได้ติดตามเฝ้าปรนนิบัติเรามานาน จงอุตส่าห์บำเพ็ญเพียร จะได้บรรลุอรหัตถ์ในไม่ช้า


พระพุทธเจ้า
         อานนท์ … ฉันนะ ถือว่าตนเองมีความสำคัญเพราะเคยติดตามเราตั้งแต่
ก่อนออกบวช จึงเป็นผู้ว่ายากสอนยาก เมื่อเราปรินิพพานจะยิ่งว่ายากสอนยากหนักขึ้น
ไม่ยอมฟังพระสาวกอื่นๆ เพราะขาดความยำเกรง ดังนั้นจงทำพรหมทัณฑ์แก่ฉันนะ


พระอานนท์
         พรหมทัณฑ์นั้นทำยังไงเหรอ พระพุทธองค์


พระพุทธเจ้า
         ภิกษุทั้งหลายไม่ว่ากล่าว ไม่ให้โอวาทไม่สั่งสอน ไม่เจรจาคำใดๆ ด้วยทั้งสิ้น ..
เมื่อฉันนะถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แล้วจะสำนึกตัวเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายและ
จะบรรลุอรหัตถ์ในที่สุด


พระพุทธเจ้า (เสียงก้องกังวานเนื่องจากเป็นการประทานโอวาทครั้งสุดท้าย)
         ภิกษุทั้งหลาย ตราบใดที่เธอทั้งหลายยังพร้อมเพรียงประชุมกันอยู่เนืองนิตย์
เคารพในสิกขาบทบัญญัติ  ยำเกรงภิกษุ  ผู้อาวุโสผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ    ไม่ทำตน
ให้ตกอยู่ใต้อำนาจแห่งตัณหา  พอใจในการอยู่อาศัยเสนาสนะป่า   ปรารถนาให้เพื่อน
พรหมจารีมาสู่สำนักและอยู่เป็นสุข     ตราบใดที่เธอทั้งหลายไม่หมกมุ่นกับการงาน
มากเกินไป    ไม่พอใจด้วยการคุยฟุ้งซ่าน  ไม่ชอบใจในการนอนมากเกินควร  ไม่ยินดี
ในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นผู้ปรารถนาลามก  ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความ
ปรารถนาชั่ว   ไม่คบมิตรเลว    ไม่หยุดความเพียรพยายามเพื่อบรรลุคุณธรรม
ขั้นสูงขึ้นไปแล้ว ตราบนั้นเธอทั้งหลายจะไม่มีความเสื่อมเลย มีแต่ความเจริญอย่างเดียว
 
         ภิกษุทั้งหลาย … เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมไป
เป็นธรรมดา   เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้บริบูรณ์พร้อม
ด้วยความไม่ประมาทเถิด





*******************

บรรยาย
         เมื่อพิธีถวายพระเพลิงเสร็จสิ้นแล้ว โทณพราหมณ์ได้รับการคัดเลือก
ให้เป็นผู้จัดแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้แก่กษัตริย์ และพราหมณ์ทั้ง ๘ เมือง
เพื่อนำไปสักการะบูชาที่แคว้นของตน โดยสร้างสถูปเป็นที่ประดิษฐาน
บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ดังนี้

๑. พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงสร้างที่กรุงราชคฤห์
๒. กษัตริย์ลิจฉวี ทรงสร้างที่เมืองเวสาลี
๓. กษัตริย์ศากยะ ทรงสร้างที่กรุงกบิลพัสดุ์
๔. กษัตริย์โมริยะ ทรงสร้างที่เมืองอัลกัปปนคร
๕. กษัตริย์โกลิยะ ทรงสร้างที่รามคาม
๖. กษัตริย์มัลละ ทรงสร้างที่นครปาวา
๗. กษัตริย์มัลลกุสินารา ทรงสร้างที่นครกุสินารา
๘. มหาพราหมณ์ สร้างที่เมืองเวฏฐทีปกนคร

ส่วนโทณพราหมณ์ สร้างสถูปบรรจุทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุที่นครกุสินารา
เรียกกันว่า ตุมพสถูป หรือตุมพเจดีย์
         หลังจากพระพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ๓ เดือน พระมหากัสสปะ
เป็นผู้นำคณะภิกษุสงฆ์ กระทำสังคายนาพระธรรมวินัยที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา
ข้างเขาเวภารบรรพตใกล้ กรุงราชคฤห์ มีพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นผู้อุปถัมภ์
การทำปฐมสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งนั้น ๗ เดือนจึงแล้วเสร็จ


***************************************

สังเวชนียสถาน ๔


พระบรมศาสดาได้ตรัสถึงสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล อันเป็นที่ควรแก่ความสังเวช

คือ
          ๑.สถานที่ประสูติ คือ สถานที่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติจากพระครรภ์
คืออุทยานลุมพินี

         ๒.สถานที่ตรัสรู้ คือ สถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือ

ควงไม้โพธิ์ ณ ตำบลพุทธคยา แค้วนมคธ

         ๓.สถานที่แสดงปฐมเทศนา คือ สถานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจัก

กัปปวัตนสูตร คือ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี แคว้นกาสี ในปัจจุบันเรียกว่า สารนาถ

        ๔.สถานที่ปรินิพพาน คือ สถานที่ซึ่งพระสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน

คือที่สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ

        เมื่อพระอานนท์ทูลถามถึงวิธีปฏิบัติต่อพระพุทธสรีระ “พระพุทธองค์ตรัสว่า

ให้ปฏิบัติตามแบบพระบรมศพพระเจ้าจักรพรรดิราช คือ ให้พันด้วยผ้าขาว
ซับด้วยสำลีแล้วห่อด้วยผ้าขาว ๕๐๐ คู่ แล้วบรรจุในหีบทองอันเต็มไปด้วย
น้ำมันหอม    เชิญขึ้นบนเชิงตะกอนอันทำด้วยไม้จันทน์หอม เพื่อถวาย
พระเพลิง แล้วอัญเชิญพระอัฐิธาตุไปทำพระสถูปบรรจุไว้ ณ ที่ประชุม
แห่งถนนใหญ่ ๔ ทิศ เพื่อเป็นที่สักการะแก่เหล่ามหาชนตราบสิ้นกาลนาน”


       ต่อจากนั้นได้ตรัสพยากรณ์พระอานนท์ว่า

“หลังจากพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ขอให้อุตส่าห์บำเพ็ญเพียร
ในไม่ช้าจะได้ถึงความสิ้นอาสวะ คือสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก่อนวันพระสงฆ์
ทำปฐมสังคายนา ทั้งยังได้ตรัสสรรเสริญพระอานนท์เถระว่า เป็นเอตทัคคะ
คือเป็นเลิศในการบำเพ็ญพุทธอุปัฏฐาก”

          พระอานนท์จึงได้รับยกย่องในด้านเป็นผู้มีสติ มีคติ มีธิติ เป็นพหูสูตร คือ

ความทรงจำพุทธวจนะ (พระธรรมคำสั่งสอน) และเป็นพุทธอุปัฏฐาก



ที่มาจากพระไตรปิฎก อรรถกถาและคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง


บทภาพยนตร์



พระพุทธเจ้า

           อานนท์ … สถานที่อันเป็นเขตให้ระลึกถึงเรามีอยู่ ๔ แห่ง
๑. อุทยานลุมพินี สถานที่ที่เราประสูติจากพระครรภ์
๒. พุทธคยาในแคว้นมคธสถานที่ที่เราตรัสรู้
๓. ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สถานที่ที่เราแสดง   ปฐมเทศนา และสุดท้ายก็คือที่ที่เราปรินิพพาน      ในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารานี้เอง


พระพุทธเจ้า

           ผู้ใดเที่ยวจาริกไปยังสถานที่ทั้ง  ๔ นี้พึงเกิดความสลดใจ เกิดความศรัทธา
เลื่อมใส และเดินตามรอยบาทแห่งเรา


พระอานนท์

           พระพุทธองค์ … ในพรหมจรรย์นี้มีสตรีเป็นอันมาก เข้ามาเกี่ยวข้อง
อยู่ในฐานะต่างๆ เป็นมารดา เป็นพี่น้อง เป็นเครือญาติ และเป็นผู้เลื่อมใส
ในพระรัตนตรัย ภิกษุจะพึงปฏิบัติต่อสตรีอย่างไร


พระพุทธเจ้า

           อานนท์ … การที่ภิกษุจะไม่ดูไม่แลสตรีเพศเสียเลย  นั่นแหละเป็นการดี


พระอานนท์

          ถ้าจำเป็นต้องดูต้องเห็นแล้วจะปฏิบัติอย่างไร


พระพุทธเจ้า

          อานนท์ … ถ้าจำเป็นต้องดูต้องเห็น ก็อย่าพูดด้วย อย่าสนทนาด้วย นั่นแหละเป็นการดี


พระอานนท์

           ถ้าจำเป็นต้องสนทนาด้วย จะปฏิบัติอย่างไร



พระพุทธเจ้า

           ถ้าจำเป็นต้องสนทนาด้วยก็จงมีสติ ควบคุมสติ สำรวมอินทรีย์ กล่าววาจา
ให้เรียบร้อย อย่าให้ความกำหนัดยินดีหรือความหลงใหลครอบงำ จิตได้ …
สิ่งงดงามวิจิตรในโลกนี้มิใช่กาม แต่ความกำหนัดที่เกิดขึ้นเพราะการดำริต่างหากเล่า
เป็นกามของคน เมื่อละความพอใจได้แล้ว สิ่งงดงามวิจิตรก็มีอยู่อย่างนั้น
แต่ทำให้เป็นพิษอะไรไม่ได้อีกต่อไป


พระอานนท์

           เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว ควรปฏิบัติกับ พระบรมศพของพระพุทธองค์
อย่างไรดี


พระพุทธเจ้า

           จงปฏิบัติเช่นเดียวกับพระศพของพระเจ้าจักรพรรดิ คือ
พันด้วยผ้าขาวซับด้วยสำลี ๕๐๐ ชั้น แล้วนำร่างของเราใส่ในหีบที่มี  น้ำมันหอม
ตั้งบนเชิงตะกอนที่ทำจากไม้จันทน์หอม เมื่อจุดเพลิงมอดไหม้แล้ว จงนำเถ้ากระดูก
บรรจุในสถูปตั้งไว้ที่ทาง ๔ แพร่ง เพื่อให้เหล่ามหาชนเดินทางมาสักการะ
โดยสะดวกตลอดกาลนาน

พยากรณ์บิณฑบาต ๒ ครั้ง


เมื่อพระบรมศาสดาพร้อมเหล่าภิกษุสงฆ์ เสด็จพุทธดำเนินสู่เมืองกุสินารา
ปุกกุสะ บุตรแห่งมัลลกษัตริย์ เดินทางผ่านมาพอดี จึงเข้าไปถวายนมัสการ น้อมถวาย
ผ้าสิงคิวรรณ จำนวน ๑ คู่ พระพุทธองค์ตรัสให้ถวายพระองค์เพียงผืนเดียว อีก ๑ ผืน
ให้นำไปถวายพระอานนท์ หลังจากปุกกุสะปฏิบัติตามและทูลลาจากไปแล้ว พระอานนท์
ได้นำผ้านั้นมาถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้พระองค์ทรงนุ่งผืนหนึ่งห่มผืนหนึ่ง ทำให้ผิว
พระวรกายงดงามบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งนัก พระพุทธองค์ตรัสว่าสาเหตุที่ทำให้ผิวกาย
ของพระองค์บริสุทธิ์เช่นนี้ มีอยู่ ๒ เวลา คือเมื่อจะตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
และเมื่อจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน จากนั้น จึงพาเหล่าภิกษุสงฆ์เสด็จพุทธดำเนินต่อไป
จนถึงแม่น้ำกกุธานที

           ได้ตรัสแก่พระอานนท์ถึงบิณฑบาตที่ถวายแก่พระองค์ ๒ ครั้ง คือ
ปฐมบิณฑบาต ถวายโดยนางสุชาดา ก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้ธรรมสำเร็จ
เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น ครั้งหนึ่ง

และ ปัจฉิมบิณฑบาต คือ ภัตตาหารมื้อสุดท้าย ที่นายจุนทะถวายก่อนที่
พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานครั้งหนึ่ง อาหารบิณฑบาต ๒ ครั้งนี้ มีอานิสงส์
มากกว่าบิณฑบาตทั้งหลาย เป็นกุศลกรรม ขออย่าให้มีผู้ใดติเตียนนายจุนทะ
ด้วยเข้าใจผิดว่า อาหารที่ถวายเป็นอันตรายด้วย มิใช่เช่นนั้นแต่ประการใด

          ต่อจากนั้น จึงพาเหล่าภิกษุสงฆ์เสด็จพระพุทธดำเนินข้าม แม่น้ำหิรัญญวดี
ในเมืองกุสินารานคร แล้วเสด็จเข้าไปประทับ ณ สาลวันอุทยาน ทรงให้พระอานนท์
ปูลาดเตรียมที่บรรทม ณ ระหว่างไม้สาละทั้งคู่ แล้วเสด็จบรรทมสีหไสยาสน์
ไม่มีพุทธประสงค์จะลุกขึ้นอีกต่อไป

           ในครั้งนั้น ต้นสาละทั้งคู่ได้ผลิดอกเบ่งบานเต็มต้นและร่วงหล่นลงมาเป็นการ
บูชาพุทธสรีระเป็นที่อัศจรรย์ แม้ดอกมณฑารพในเมืองสวรรค์ตลอดจนทิพยสุคนธาชาติ
ทั้งหลาย ต่างก็เบ่งบานตกลงมาบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่าเทพยดาทั้งหลาย
ต่างประโคมดนตรีทิพย์ บันลือลั่นเป็นมหานฤนาท เพื่อบูชาพระตถาคตเจ้าในกาลอวสาน พระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนท์ว่า
“การปฏิบัติธรรมเท่านั้น คือเครื่องบูชาอันสูงค่าแก่พระองค์”

ที่มาจากพระไตรปิฎก อรรถกถาและคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

บทภาพยนตร์


ปุกกุสะ
          ข้าพระพุทธองค์มีนามว่า ปุกกุสะ บุตรของ มัลลกษัตริย์และเป็นสาวกของท่าน
อาฬารดาบส กาลามโคตร เดินทางออกจากเมืองกุสินารา เพื่อจะไปยังเมืองปาวานคร
ครั้งนี้นับเป็นโชควาสนาของข้าพระพุทธองค์อย่างยิ่ง ที่ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่าชีวิตนี้
ขอให้ได้มีโอกาสสดับฟังพระธรรมจากพระพุทธองค์สักครั้งหนึ่ง


พระพุทธเจ้า
           ดูก่อนปุกกุสะ...จิตนี้ผุดผ่อง..แต่ต้องเศร้าหมองด้วยอุปกิเลสที่จรมา
ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมไม่รู้ข้อนั้นตามเป็นจริง ผู้มิได้เรียนรู้ย่อมไม่มีการอบรมจิต
ส่วนอริยสาวกผู้ที่ได้ฝึกฝนปฏิบัติดีแล้วย่อมทราบข้อนั้นตามเป็นจริง อริยสาวก
ผู้ได้สดับย่อมมีการอบรมจิต
           ปุกกุสะ เราไม่เล็งเห็นธรรมะอื่นแม้สักอย่างที่เปลี่ยนแปลงได้เร็วเหมือนจิต
ท่านจงกำหนดจิตระลึกถึงคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า...คุณของพระธรรม
คุณของพระสงฆ์  ศีลอันดีงามของตน..ทานที่ท่านสละแล้ว..และเทวดาที่แตกต่างกัน
ในทาน ศีล และการปฏิบัติภาวนา เมื่อท่านกำหนดจิตระลึกถึงอยู่ดังนี้หรืออย่างใด
อย่างหนึ่ง ในคราวนั้นจิตของท่านย่อมไม่มีราคะ โทสะ โมหะครอบงำ ย่อมเป็นจิตตรง
โดยการระลึกถึงอยู่ ย่อมได้ความเข้าใจในอรรถธรรม ได้ความปราโมทย์อันประกอบ
กับธรรม ได้ความปราโมทย์แล้วปิติก็เกิด  ปิติเกิดแล้วกายก็สงบ กายสงบแล้ว
ก็ได้ความสุข ได้ความสุขแล้วจิตก็ตั้งมั่น อันนี้แหละเรียกว่าผู้ถึงความสงบ ถึงความไม่มีทุกข์ ถึงกระแสธรรม



ปุกกุสะ
           ผ้าสิงคิวรรณ ๒ ผืนนี้ มีค่าสูง เพราะเป็นผ้าเนื้อละเอียด ทออย่างประณีต
สีดังทองสิงคี ข้าพระพุทธองค์ขอน้อมถวายเป็นเครื่องสักการะบูชา ขอพระพุทธองค์
ทรงรับไว้ด้วยเถิด


พระพุทธเจ้า
           ปุกกุสะเราขอรับผ้าสิงคิวรรณไว้เพียงผืนเดียว ส่วนอีกผืนนั้นท่านจงถวาย
แก่พระอานนท์ ซึ่งเป็นพุทธอุปัฏฐากเถิด



พระอานนท์
           ผ้าสิงคิวรรณนี้สูงค่ายิ่งนัก ขอพระพุทธองค์ทรงรับไว้คู่กันเถิด  เพื่อจะได้
นุ่งผืนหนึ่งและ ห่มผืนหนึ่ง



พระอานนท์
          พระฉวีวรรณของพระพุทธองค์ดูผ่องใสงดงามบริสุทธิ์ น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก



พระพุทธเจ้า
           อานนท์ … ผิวกายของเรางามบริสุทธิ์ใน ๒ คราว คือ ในคราวที่จะตรัสรู้ และในคราวที่จะปรินิพพานจงเร่งเดินทางไปยังเมืองกุสินารากันเถิด



พระพุทธเจ้า (เสียงก้องในความคิด)
           จุนทะ เป็นผู้ถวายอาหารบิณฑบาตมื้อสุดท้ายของเรา แต่ถ้าเราไม่บอกกล่าว
ให้ทราบ ต่อไปผู้อื่นจะคิดว่าการถวายอาหารของจุนทะ เป็นสาเหตุให้เรา
ต้องดับขันธ์ปรินิพพาน


พระพุทธเจ้า
           อานนท์ … บิณฑบาตทานที่มีอานิสงส์มาก มีผลไพศาลมีอยู่สองคราวเท่านั้น
คือครั้งแรกเมื่อนางสุชาดาถวาย...เราก็ถึงซึ่งการดับกิเลส และอีกครั้งหนึ่งที่นายจุนทะ
ถวายนี้ เราก็ถึงซึ่ง การดับขันธ์ อันเป็นวิบากที่ยังเหลืออยู่...ถ้าใครๆ จะว่ากล่าว
นายจุนทะ เธอควรพูดให้เขาเข้าใจตามนี้ ถ้านายจุนทะเดือดร้อนใจ เธอพึงกล่าว
ให้เขาคลายวิตกกังวลเสีย อาหารของนายจุนทะเป็นอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับเรา



พระพุทธเจ้า
           อานนท์ … นับแต่นี้เราจะไม่ลุกขึ้นอีกแล้ว



พระพุทธเจ้า
           อานนท์ … วันหน้าต่อไป แม้ผู้ใดจะสักการะบูชาเราด้วยเครื่องบูชามากมาย
สูงค่าแค่ไหน ก็ไม่ชื่อว่า บูชาเราด้วยการบูชาอันยิ่ง …อานนท์ …ผู้ใดปฏิบัติตามธรรม
อันชอบยิ่งนี้ ผู้นั้นจึงชื่อว่าได้สักการะบูชาเราด้วยการบูชาอันประเสริฐแล้ว
อานนท์เราจะปรินิพพานในคืนนี้แล้ว


พระอานนท์
           พระพุทธองค์อย่าได้ปรินิพพานที่เมืองเล็กๆ อย่างกุสินารานี่เลย … ขอพระพุทธองค์เสด็จไปปรินิพพานที่เมืองใหญ่ๆ อย่างเมืองสาวัตถี โกสัมพี
หรือเมืองพาราณสีเถิด เมืองเหล่านั้นมีกษัตริย์ มีพราหมณ์และคหบดีมากมาย
ล้วนแต่ศรัทธาในพระพุทธองค์ทั้งนั้น



พระพุทธเจ้า
           อานนท์ … อย่าได้ตำหนิว่าเมือง กุสินารานี้เป็นเมืองเล็ก … ในอดีตกาล
เมืองนี้เป็นราชธานีที่ยิ่งใหญ่ มั่งคั่ง พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ผู้คนมากมาย
เต็มไปด้วย เสียงเพลง กล่อมประโคมทั้งกลางวันกลางคืน…อีกประการหนึ่งถ้าเรา
ไปปรินิพพานที่เมืองอื่น สุภัททปริพาชก     ซึ่งเป็นนักบวชลัทธิอื่น ก็จะไม่ได้พบเรา
ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ ประการสุดท้ายถ้าเราไปปรินิพพานที่เมืองอื่น   สงคราม
ครั้งยิ่งใหญ่จะเกิดขึ้น เพราะเหตุแย่งสรีรธาตุของเรา แต่ในเมืองกุสินารานี้
มีโทณพราหมณ์อยู่ จะได้ช่วยห้ามปรามระงับสงครามนั้น แล้วแจกสรีรธาตุของเรา
แก่กษัตริย์ที่มาจากเมืองต่างๆ สงครามก็จะไม่เกิด นี่คือเหตุผลที่เราอดทนบากบั่น
เดินทางมาจนถึงเมืองกุสินารานี้


พระอานนท์
           เมื่อก่อนผู้เลื่อมใสในธรรมของพระพุทธองค์ต่างเดินทางมาจากทุกสารทิศเพื่อ
เข้าเฝ้า ฟังธรรมะและถามปัญหาข้อข้องใจมากมาย … แต่นี้ไปข้าพระพุทธองค์
และคนเหล่านั้นจะไม่ได้พบเห็น ไม่ได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดพระพุทธองค์ อีกแล้ว

รับอุทก

นายจุนทะผู้มีอาชีพช่างทองเมื่อทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จมาประทับในสวน
ของตนในเมืองไพศาลี ก็บังเกิดความยินดี รีบนำเครื่องสักการะมาถวายพร้อมทั้ง
กราบทูลให้เข้าไปรับอาหารบิณฑบาต ในเช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อพระพุทธองค์นำภิกษุสงฆ์
เสด็จมาถึงเรือน นายจุนทะ ได้จัดโภชนาการอันประณีตไว้ถวายพร้อมสุกรมัททวะ
พระพุทธองค์ตรัสว่า ถวายสุกรมัททวะเฉพาะพระองค์เพียงผู้เดียว ที่เหลือให้ขุดหลุม
ฝังเสีย เพราะนอกจากพระองค์แล้วไม่มีไฟธาตุของผู้ใดจะสามารถย่อยได้
จงนำอาหารอื่นๆ ที่จัดเตรียมไว้ถวายเหล่าภิกษุสงฆ์



       ในวันนั้นได้ทรงประชวร ถ่ายเป็นพระโลหิต และมีพระดำรัสให้ออกเดินทางต่อไป
สู่เมืองกุสินารา ในระหว่างทางทรงกระหายน้ำมาก จึงเสด็จเข้าประทับพักยังร่มไม้
ริมทาง ตรัสให้พระอานนท์ไปตักน้ำมาถวาย พระอานนท์เห็นน้ำในแม่น้ำขุ่น เพราะกอง
เกวียน จำนวน ๕๐๐ เล่ม เพิ่งแล่นผ่านไป จึงกลับมาทูลอาราธนาให้เสด็จต่อ
พระพุทธองค์ตรัสให้พระอานนท์กลับไปตักน้ำมาถวายใหม่อีกครั้ง



        คราวนี้น้ำในแม่น้ำที่ขุ่นนั้นกลับใสสะอาด เป็นที่อัศจรรย์ พระองค์จึงตรัสถึงสาเหตุ
ที่น้ำในแม่น้ำขุ่นในครั้งแรกว่า เกิดจากบุพกรรม คือกรรมแต่ชาติปางก่อนเมื่อครั้งที่
พระองค์เสวยพระชาติเป็นพ่อค้าเกวียน ครั้งหนึ่งขณะนำกองเกวียนจำนวน ๕๐๐ เล่ม
ไปค้าขายยังต่างเมือง พระองค์สั่งให้นำ กะทอ คือเครื่องครอบสวมปากวัวไว้ทั้งหมด
เพราะเกรงจะดื่มน้ำในแม่น้ำสายเล็กๆ ที่เดินทางผ่านอันอาจไม่สะอาด ครั้นเดินทาง
ถึงแม่น้ำสายใหญ่แล้วจึงสั่งให้ถอดกะทอออก ฝูงวัวจึงได้ดื่มน้ำ กรรมอันนั้นได้ติดตาม
มาสนองในขณะจวนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทำให้ได้น้ำมาดื่มอย่างยากลำบาก

         ส่วนสาเหตุที่น้ำในแม่น้ำซึ่งขุ่นข้นกลับใสขึ้นมานั้น เกิดจากผลบุญเมื่อพระองค์
เสวยพระชาติเป็นพ่อค้าเกวียนนำกองเกวียนออกเดินทางค้าขายผ่านสถานที่กันดาร
น้ำที่เตรียมไว้หมด คนทั้งหลายพากันอดอยากสิ้นกำลัง พระองค์ไม่ทรงย่อท้อพยายาม
เสาะหาสถานที่อันมีต้นหญ้าขึ้นอยู่เขียวชะอุ่ม แล้วให้ช่วยกันขุดดินและแผ่นหินที่ขวาง
กั้นอยู่ ทำให้เกิดเป็นบ่อน้ำขึ้นในสถานที่กันดารผู้สัญจรเดินทางผ่านไปมาได้อาบกินเกิด
กุศลแก่ผู้สร้าง



ที่มาจากพระไตรปิฎก อรรถกถาและคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง



บทภาพยนตร์


(เสียงพระพุทธเจ้าก้องกังวาน)
        ผู้มีปัญญาพึงพยายามยกจิตขึ้นจากอาลัย คือ กามคุณ... ละบ่วง
แห่งมารเสีย ใช้สติเป็นขอเหนี่ยวรั้ง... สามารถทำตนของตนไว้ในอำนาจได้
สามารถชนะตนเองได้



นายจุนทะ
        นอกจากพระพุทธองค์จะเสด็จมาประทับในสวนมะม่วงของ ข้าพระพุทธองค์แล้ว
ยังทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดอีกด้วย นับเป็นพระเมตตาที่มีต่อข้าพระพุทธองค์ …
นายจุนทะบุตรช่างทองอย่างหาที่สุดมิได้ เช้าวันพรุ่งนี้ขอกราบอาราธนา
รับอาหารบิณฑบาตที่บ้านของข้าพระพุทธองค์ด้วยเถิด


นายจุนทะ
         นี่คือ สูกรมัททวะ (สูกะระมัดทะวะ) โภชนาหารที่ปรุงอย่างประณีต
ขอพระพุทธองค์เสวยเถิด


พระพุทธเจ้า
         จุนทะ … สูกรมัททวะนี้ เป็นอาหารที่ปรุงขึ้น เป็นพิเศษเหมาะสำหรับเราเท่านั้น
นอกจากเราแล้วไม่มีไฟธาตุของผู้ใดสามารถย่อยได้  ส่วนที่เหลือขอให้ท่าน
นำไปฝังดินเสีย สำหรับพระภิกษุสาวกของเราจงนำอาหารชนิดอื่นถวาย แทนเถิด


นายจุนทะ
         พระพุทธเจ้าข้า



พระพุทธเจ้า
         อานนท์ บัดนี้ โรคในกายเราเริ่มกำเริบหนักขึ้นมาอีกแล้ว
จงรีบเดินทางไปยังเมืองกุสินารากันเถิด เราจะปรินิพพานที่เมืองนั้น


พระพุทธเจ้า
         อานนท์ แวะพักใต้ร่มไม้นี้สักครู่  แล้วช่วยไปตักน้ำมาให้เราดื่มสักหน่อยเถิด

พระอานนท์
         กองเกวียนจำนวนมาก เพิ่งจะข้ามผ่านไป หนำซ้ำแม่น้ำนี้เริ่มจะลดแห้งลง
ทำให้น้ำขุ่นข้นไม่ควรจะเป็นน้ำเสวย…แม่น้ำกกุธานที ห่างจากนี่ไม่ไกลนัก มีน้ำใสเย็น
ขอเสด็จไปเสวยและสรงน้ำที่นั่นเถิด



พระอานนท์ (เสียงในความคิด)
         แม้เราทัดทานว่าน้ำขุ่นข้น เสวยไม่ได้อย่างไร แต่พระพุทธองค์ยังยืนยัน
จะเสวย... พระพุทธองค์ทำอย่างงี้ต้องมีเหตุผลอย่างแน่นอน เพราะนี่เป็นครั้งแรก
ที่ทรงกระหาย และขอน้ำเสวยระหว่างทางที่ยังไม่ถึงที่พัก



พระอานนท์
         โอ … พุทธานุภาพนี้ใหญ่หลวงยิ่งนัก








ปลงอายุสังขาร

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสห้ามมารและทรงปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์
โดยตรัสกับพญามาร พลันได้เกิดอัศจรรย์แผ่นดินไหว ทั้งกลองทิพย์ก็บันลือลั่น
ในอากาศ


          พระอานนท์บังเกิดความพิศวงในบุพนิมิต จึงออกจากร่มไม้ไปเฝ้าพระพุทธองค์
เพื่อทูลถามถึงเหตุที่ทำให้เกิดอัศจรรย์ พระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนท์ว่า
“บัดนี้ตถาคตได้ปลงอายุสังขาร ต่อแต่นี้ไปอีก ๓ เดือนตถาคตจะปรินิพพาน
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดอัศจรรย์แผ่นดินไหว”

          พระอานนท์พุทธอุปัฏฐากจึงทูลอาราธนาให้ดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัปหนึ่ง
เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก พระพุทธองค์ตรัสห้ามว่า
“ในเมื่อเชื่อว่า พระองค์จะสามารถดำรงพระชนมชีพอยู่ได้ถึงหนึ่งกัป ไฉนจึง
ไม่ทูลอาราธนาทั้งที่ได้แสดงโอฬาริกนิมิตถึง ๑๖ ครั้ง ( คือที่เมืองราชคฤห์
๑๐ ครั้ง เมืองไพศาลี ๖ ครั้ง ) พญามารได้ทูลอาราธนาให้ตถาคต
ดับขันธปรินิพพานแล้ว บัดนี้ตถาคต ได้สละแล้ว คายแล้ว ปล่อยแล้ว
วางแล้วจะนำสิ่งนั้นกลับมาอีกด้วยเหตุใด”





ที่มาจากพระไตรปิฎก อรรถกถาและคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง



บทภาพยนตร์



พระอานนท์
           พระพุทธองค์ … อยู่ดีๆ ทำไมถึงเกิดเหตุอัศจรรย์แผ่นดินไหวขึ้นมาได้เล่า
พระพุทธเจ้าค่ะ

พระพุทธเจ้า
           อานนท์ … เหตุให้เกิดแผ่นดินไหวนั้นมี ๘ ประการ คือ
๑. ลมกำเริบ
๒. ผู้มีฤทธิ์บันดาล
๓. พระโพธิสัตว์จุติจากดุสิตเทวโลกลงสู่   พระครรภ์
๔. พระโพธิสัตว์ประสูติ
๕. พระพุทธเจ้าตรัสรู้
๖. พระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมจักรกัปวัตนสูตร
๗. พระพุทธเจ้าปลงอายุสังขาร
๘. พระพุทธเจ้าปรินิพพาน

           บัดนี้เราได้ปลงอายุสังขารแล้ว ต่อแต่นี้ไปอีก ๓ เดือน เราจักปรินิพพาน
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแผ่นดินไหวขึ้น


พระอานนท์
           โอ … ขอพระพุทธองค์จงทรงพระชนม์อยู่ต่อไปอีกจนสิ้นกัปหนึ่ง …
เพื่อจะได้โปรดเทพยดาและอนุเคราะห์สัตว์โลกด้วยเถิด



พระอานนท์
           ขอพระพุทธองค์จงทรงพระชนม์อยู่ต่อไปอีกจนสิ้นกัปหนึ่งเถิด..ขอพระพุทธองค์
จงทรงพระชนม์อยู่ต่อไปอีกจนสิ้นกัปหนึ่งเถิด


พระพุทธเจ้า
          อานนท์ … เหตุใดจึงมาวิงวอนเราถึง ๓ ครั้งล่ะ


พระอานนท์
           พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า ผู้ใดเจริญอิทธิบาท ถ้าปรารถนาจะมีชีวิตยืนยาวตลอด
๑ กัป หรือ มากกว่านั้น ก็ย่อมกระทำได้ ข้าพระพุทธองค์จึงกราบทูลวิงวอนถึง ๓ ครั้ง


พระพุทธเจ้า
           อานนท์...เวลาที่ผ่านมา เราแสดงนิมิตโอภาสถึง ๑๖ ครั้ง คือ
ที่กรุงราชคฤห์ ๑๐ ครั้ง ที่เมือง ไพศาลี ๖ ครั้ง ในครั้งที่ ๑๖ เราได้แสดงก่อนปลง
อายุสังขารที่บริเวณปาวาลเจดีย์ เมื่อครู่นี้ ถ้าเธอกล่าวขอในที่ใดที่หนึ่ง เราก็จะห้าม
เพียง ๒ ครั้ง และในครั้งที่ ๓ เราจะรับตามคำขอ...แต่บัดนี้เราได้รับคำพญามาร...
ปลงอายุสังขารแล้ว สิ่งใดที่ตถาคตได้สละแล้ว  คลายแล้ว  ละแล้ว  ปล่อยวางแล้ว...
แล้วจะให้นำกลับคืนมาย่อมไม่สมควรอย่างยิ่ง


พระพุทธเจ้า
        อานนท์ … สังขารทั้งหลายมีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา มีเกิดขึ้นก็ต้องมีดับไป
ในที่สุด ปรินิพพานเป็นที่สุดแห่งสุข จะหาสิ่งอื่นใดมาเสมอเหมือนมิได้









ห้ามมาร

เมื่อพระอานนท์ผู้เป็นพุทธอุปัฏฐาก มิได้ทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าดำรง
พระชนม์อยู่ตลอดกัปหนึ่ง พระพุทธองค์จึงทรงมีรับสั่งให้ลุกออกไปเสียจากที่นั้น
พระอานนท์ถวายอภิวาทแล้วออกไปนั่งไม่ไกลจากที่ประทับนัก ฝ่ายพญามารวสวัตดี
เห็นสบโอกาสรีบเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลว่า
“ครั้งแรกเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วเสด็จประทับใต้ต้นไทร ได้ตรัสว่า ตราบใดที่พุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี
อุบาสก อุบาสิกา ยังมิได้ตั้งมั่นในธรรม และพรหมจรรย์ยังไม่ได้ประกาศ
แพร่หลายบริบูรณ์ด้วยดี สำเร็จประโยชน์แก่ประชุมชนเป็นอันมาก ทั้งเทวดา
และมนุษย์เพียงใดแล้วพระองค์จะยังไม่ปรินิพพานก่อนเพียงนั้น  แต่บัดนี้
พุทธบริษัท ๔ และพรหมจรรย์ก็สมบูรณ์ดังพุทธประสงค์ทุกประการแล้ว
ขอจงปรินิพพานเถิด”



          เมื่อพญามารกราบทูลอาราธนาดังนี้ พระบรมศาสดาจึงตรัสห้ามมารว่า

“มารผู้มีใจบาป ท่านจงมีความขวนขวายน้อยอยู่เถิด ความปรินิพพาน
ของตถาคตจะมีในไม่ช้านี้ นับแต่นี้ไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน”





ที่มาจากพระไตรปิฎก อรรถกถาและคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง




บทภาพยนตร์


พญามาร

           ฮ่า … ฮ่า … จำได้หรือเปล่า … เมื่อครั้งที่ท่านตรัสรู้แล้วประทับอยู่
ที่ใต้ต้นโพธิ์ท่านบอกว่า ตราบใดที่พุทธบริษัททั้งหลาย ยังไม่ตั้งมั่นในพระธรรม  ทั้งมนุษย์ เทวดา ยังไม่ได้บรรลุมรรคผล และพระพุทธศาสนายังไม่เผยแผ่ไพศาล
ไปทั่วสารทิศแล้ว ตราบนั้นจะยังไม่ปรินิพพาน … ถึงตอนนี้ ท่านก็สมประสงค์แล้ว
จงปรินิพพาน ในวันนี้เถิด จะทรงทำประโยชน์แก่สัตว์โลกให้ลำบากต่อไปทำไม


พระพุทธเจ้า

           พญามาร … ท่านอย่าได้ทุกข์ร้อนวิตกกังวลใจให้วุ่นวายไปเลย นับแต่นี้
ต่อไปอีก ๓ เดือน เราจักปรินิพพาน



พญามาร

           ฮ่าๆ …ขอให้ท่านรักษาวาจาด้วยเถิด…ฮ่า…ฮ่า…






แสดงโอฬาริกนิมิต

ในเวลาเช้า ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ วันมาฆบูชา พระพุทธองค์เสด็จเข้าไป
บิณฑบาต ณ เมืองไพศาลี ในครั้งนั้น พระพุทธองค์ได้แสดง โอฬาริกนิมิต คือตรัสให้
พระอานนท์ทราบว่า “ผู้ใดเจริญ อิทธิบาทภาวนา หรืออิทธิบาท ๔ สมบูรณ์ดีแล้ว
ผู้นั้นสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ถึงกัปหนึ่ง หรือเกินกว่าได้ตามประสงค์”
แม้พระพุทธองค์ได้ตรัสแสดงนิมิตถึง ๓ ครั้ง แต่พระอานนท์ ก็มิได้ทูลอาราธนาให้ดำรง
พระชนมชีพอยู่ตลอดกัปหนึ่งเพราะเหตุที่พญามารได้เข้าดลใจ





ที่มาจากพระไตรปิฎก อรรถกถาและคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง



บทภาพยนตร์

พระพุทธเจ้า
       อานนท์ … บริเวณปาวาลเจดีย์แห่งนี้ เป็นสถานที่สงบเงียบ    หากบุคคลใด
ได้เจริญอิทธิบาท ๔ ประการ และบุคคลนั้นมีความปรารถนาจะให้อายุยืนได้ถึง ๑ กัป
(อายุขัยของมนุษย์ในยุคนั้น) หรือมากกว่านั้น ก็จะมีชีวิตยืนยาวได้สมปรารถนา


พญามาร
       ฮ่า…ฮ่า…พระพุทธเจ้าแสดงนิมิตโอภาสพูดกับพระอานนท์  หวังจะให้พระอานนท์
ทูลขอให้พระองค์มีชีวิตอยู่ต่อไป จะได้แสดงธรรมะสั่งสอนมนุษย์ทั้งหลายได้อีก
ช่วงระยะเวลาหนึ่ง อย่าหวังไปเลย … เราจะต้องดลใจพระอานนท์ไม่ให้เข้าใจ
และนิ่งเฉยต่อนิมิตโอภาสนี้ซะแล้ว ฮ่า..ฮ่า..


พญามาร (เสียงก้องในความคิด)
      พระพุทธเจ้าพูดถึง ๓ ครั้งแล้ว เราดลใจให้พระอานนท์นิ่งเฉยไว้จนสำเร็จ
… ฮ่า … ฮ่า …



พระพุทธเจ้า
       อานนท์ เธอจงไปหาที่สงบ เจริญสมาธิภาวนาเถิด








พิจารณาชราธรรม

ในพรรษาที่ ๔๕ อันเป็นพรรษาสุดท้ายแห่งพระชนมายุ พระบรมศาสดา
เสด็จประทับ ณ บ้านเวฬุคาม เขตเมืองไพศาลี ทรงพระประชวรหนักเกิดทุกขเวทนา
แรงกล้า แต่พระพุทธองค์ทรงดำรงพระสติสัมปชัญญะมั่นคงทรงอดกลั้นในทุกขเวทนา
ด้วยความอดทน ทรงเห็นว่ายังมิควรที่จะปรินิพพานในเวลานี้ จึงบำบัดขับไล่อาพาธ
ให้สงบระงับด้วยความเพียรในอิทธิบาทภาวนา      

      วันหนึ่งจึงทรงปรารภเรื่องชราธรรมประจำพระกายกับพระอานนท์พุทธอุปัฏฐากว่า
“บัดนี้ตถาคตชราภาพ ล่วงกาลผ่านวัยจนชนมายุล่วงเข้า ๘๐ ปีแล้ว
กายของตถาคตทรุดโทรดเสมือนเกวียนชำรุดที่ต้องซ่อม ต้องมัดกระหนาบ
ให้อยู่ด้วยไม้ไผ่อันมิใช่    สัมภาระแห่งเกวียนนั้น เมื่อใดตถาคตเข้า
อนิมิตตเจโตสมาธิ ตั้งจิตสงบมั่น คือ ไม่ให้มีนิมิตใดๆ เพราะไม่ทำนิมิตทั้งหลาย
ไว้ในใจ ดับเวทนาบางเหล่าเสีย และหยุดยั้งอยู่ด้วยอนิมิตตสมาธิ เมื่อนั้น
กายของตถาคตย่อมผ่องใส มีความผาสุกสบาย เพราะธรรมคืออนิมิตตสมาธิ
มีอานุภาพสามารถทำให้ร่างกายของผู้ที่เข้าถึงและหยุดอยู่ด้วยสมาธิ
นั้นมีความผาสุก ฉะนั้นจงมีตนเป็นเกราะมีธรรมเป็นที่พึ่งทุกอิริยาบถเถิด”

“บุคคลรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์แก่ตน ควรรีบทำสิ่งนั้น ผู้มีความคิด มีความรู้
มีความบากบั่น ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่างบุคคลผู้โง่เขลา หลีกออกจากธรรมะ
ไม่ประพฤติตามธรรมะ จวนจะใกล้ตายก็ต้องซบเซา เหมือนพ่อค้าเกวียน
ที่มีเพลาเกวียนหักไปแล้วฉะนั้น”



ที่มาจากพระไตรปิฎก อรรถกถาและคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง



บทภาพยนตร์



พระอานนท์
       พระพุทธองค์ประชวรหนัก เกิดทุกขเวทนาแรงกล้า แต่ยังดำรงสติสัมปชัญญะ
มั่นคง ทรงอดกลั้นทุกขเวทนาด้วยความอดทนอย่างยิ่ง … ระงับขับไล่อาการประชวร
ให้สงบลงด้วยความเพียรในอิทธิบาทภาวนา ทำให้ข้าพระพุทธองค์ยินดีอย่างมาก
ที่พระพุทธองค์จะมีพระชนม์ยืนนานเป็นที่พึ่งของเหล่าสาวกและพุทธบริษัทตลอดไป


พระพุทธเจ้า
       อานนท์ … บัดนี้ เราชราภาพอายุล่วงเข้า ๘๐ ปีแล้ว ร่างกายของเราทรุดโทรม
เปรียบเสมือนเกวียนเก่าชำรุดที่ซ่อมแซมดามไว้ด้วยไม้ไผ่  พอให้ใช้งานได้ชั่วคราว
ไม่ยั่งยืน … อาศัยแต่สมาธิภาวนาพอพยุงค้ำร่างกายให้ดำเนินไปได้ …
เธอจงอาศัยตนเองเป็นที่พึ่งเถิด สิ่งอื่นใดที่เป็นที่พึ่งยิ่งกว่าตนเองนั้นไม่มีแล้ว










โปรดองคุลิมาล

สมัยหนึ่งพระพุทธองค์ เสด็จประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร พระเจ้า
ปเสนทิโกศลเป็นกษัตริย์ปกครองนครสาวัตถี ในครั้งนั้นมีพราหมณ์ปุโรหิตผู้หนึ่งนามว่า
ภควพราหมณ์  มีภรรยานามว่า มันตานีพราหมณี ในวันที่นางมันตานีพราหมณี
ให้กำเนิดบุตรชาย ได้เกิดลางร้ายบรรดาศาสตราวุธปรากฏแสงประกายรุ่งโรจน์
สะท้อนจากกองไฟ ภควพราหมณ์เห็นเหตุอาเพศ ทราบว่าบุตรของตนเกิดใต้ฤกษ์
ดาวโจร ภายภาคหน้าจะสร้างความเดือดร้อนแก่ปวงชน จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล
ต่อพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อให้นำบุตรของตนไปประหารเสียตั้งแต่เยาว์วัย
        พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงเห็นด้วย ดำริว่า “เด็กทารกเป็นผู้บริสุทธิ์
หากอบรมเลี้ยงดูให้มีวิชาความรู้ในสำนักครูอาจารย์ผู้มีคุณธรรมย่อมบ่มนิสัย
ให้ดีได้” นางพราหมณีจึงตั้งนามบุตรของตนว่า อหิงสกะ อันมีความหมายว่า
ผู้ไม่เบียดเบียน

        ครั้นเมื่ออหิงสกะเจริญวัย ภควพราหมณ์ได้ส่งไปเรียนสรรพวิชา
ณ สำนักทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา อหิงสกะมีความตั้งใจศึกษาและเล่าเรียนวิชา
ได้แตกฉานเหนือเพื่อนศิษย์ทั้งหลาย ทั้งยังเป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้ได้รับ
ความรักใคร่จากอาจารย์ แต่เป็นที่อิจฉาริษยาของเพื่อนศิษย์ด้วยกัน จึงต่างพยายาม
ยุยงด้วยอุบายจนผู้เป็นอาจารย์เกิดความเขลาด้วยโมหะ หลงเชื่อว่า อหิงสกะเป็นศิษย์
ที่คิดล้างครูลบหลู่ตน ครั้นจะฆ่าด้วยตนเองก็เกรงจะตกเป็นที่ครหาและมีความผิด
ดังนั้นมีวิธีเดียวที่จะกำจัดอหิงสกะ คือยืมมือผู้อื่นฆ่า โดยบอกว่าจะสอนพระเวทวิชาเอก
เรียกว่าวิษณุมนต์ ให้โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องหานิ้วมือมนุษย์จำนวนหนึ่งพันนิ้ว
จากหนึ่งพันคนมาจัดเป็นเครื่องบูชาครูและเทพเจ้า ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชานี้ อหิงสกะ
จึงได้นามใหม่ว่า องคุลิมาล เพราะนำนิ้วมือมาร้อยเป็นพวงมาลัย



        ซึ่งในเวลานั้นองคุลิมาลผู้หลงผิด รวบรวมนิ้วมือมนุษย์ที่ถูกตนประหาร
เอาไว้ได้แล้ว ๙๙๙ นิ้ว ขาดเพียงนิ้วเดียวก็จะครบหนึ่งพันตามคำสั่งของผู้เป็นอาจารย์
พระพุทธองค์ทรงทราบ ว่าอหิงสกะกำลังจะกระทำมาตุฆาต จึงเสด็จสู่ป่าอันเป็นสถานที่
หลบซ่อนตัวขององคุลิมาลโจร



            เมื่อองคุลิมาลเห็น จึงถือดาบวิ่งไล่ตามด้วยความยินดี แต่ไม่ว่าจะพยายาม
วิ่งด้วยความรวดเร็วสักเพียงใด ก็ไม่อาจติดตามทันพระพุทธองค์ที่เดินอยู่ข้างหน้า
ด้วยอากัปกิริยาปกติมิได้เร่งร้อน ครั้นหมดกำลังลงจึงตะโกน
“สมณะหยุดก่อนหยุดก่อนสมณะ”

พระพุทธองค์ยังคงเสด็จพระดำเนินต่อไปและได้ตรัสตอบว่า
“เราหยุดแล้ว แต่ท่านนั่นแหละที่ยังไม่หยุด”



และเฉลยปริศนาธรรมว่า “ดูก่อนอหิงสกะ ที่เรากล่าวว่า เราหยุดแล้ว คือ หยุดฆ่า
หยุดเบียดเบียน หยุดแสวงหาในทางผิด หยุดดำเนินไปในทางทุจริตทุกประการ
ดูก่อนอหิงสกะ ที่เรากล่าวว่า ตัวท่านนั่นแหละที่ยังไม่หยุด เพราะยังไม่หยุดฆ่า
ไม่หยุดเบียดเบียน ไม่หยุดแสวงหาในทางที่ผิด ไม่หยุดดำเนินไปในทางทุจริต
ในมือของท่านยังถือดาบอยู่ ไฉนท่านจึงกล่าวว่าหยุดแล้ว”



เมื่ออหิงสกะได้ฟังเพียงเท่านี้ ด้วยบุญกุศลแห่งแสงสว่างในปัญญาส่งผลให้บังเกิด
ความสำนึก ทิ้งดาบแล้วก้มลงกราบแทบพระบาท หลังจากพระพุทธองค์ทรง
แสดงพระธรรมเทศนาโปรด อหิงสกะก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ และทูลขอบรรพชา
พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา


ที่มาจากพระไตรปิฎก อรรถกถาและคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง



บทภาพยนตร์



พระพุทธเจ้า (เสียงก้องในความคิด)
            อีกไม่นาน อหิงสกะจะกระทำมาตุฆาต คือ ฆ่ามารดาของตัวเอง
ถือเป็นกรรมหนัก ห้ามมรรคผล ห้ามนิพพานแต่จอมโจรผู้นี้ไม่ได้มีเจตนาประหาร
ผู้อื่นด้วยความอาฆาตพยาบาท หากแต่กระทำไปด้วยความเขลา ยังสามารถ
เข้าถึงพระธรรมได้  เราจะต้องช่วยให้อหิงสกะพ้นจากบ่วงแห่งความเขลา
และความหลงผิดนี้


องคุลิมาล
            ฮ่า..ฮ่า..ฮ่า..เรารวบรวมนิ้วมือมนุษย์มาได้ ๙๙๙ นิ้วแล้ว ฆ่าคน
อีกเพียงคนเดียวก็จะได้นิ้วมือครบ หนึ่งพันนิ้วตามที่ท่านอาจารย์สั่งแล้ว



องคุลิมาล
            นั่น …สมณะเดินอยู่คนเดียว ชะตาเจ้าถึงฆาตเสียแล้ว



องคุลิมาล (เสียงก้องในความคิด)
            แปลกจริงๆ สมณะอยู่ข้างหน้าเราเดินไปเรื่อยๆ … นี่เราวิ่งตามมาตั้งไกล
จนจะหมดแรงแล้ว แต่ทำไมไม่ทันสักที


องคุลิมาล
            โอย … (เสียงหอบหายใจ) สมณะหยุดก่อน … หยุดก่อนสมณะ


พระพุทธเจ้า
            เราหยุดแล้ว … แต่ท่านนั่นล่ะที่ยังไม่หยุด

องคุลิมาล
            ท่านเป็นบรรพชิต ควรพูดแต่คำสัตย์ ในเมื่อท่านยังก้าวเท้าเดินอยู่
เหตุใดจึงบอกว่าหยุดแล้ว … แต่ข้านั้นหยุดยืนอยู่นี่ แล้วทำไมยังบอกว่าไม่หยุด



พระพุทธเจ้า
            อหิงสกะ … เราหยุดแล้ว คือ หยุดฆ่า หยุดเบียดเบียน หยุดแสวงหา
ในทางที่ผิด หยุดดำเนินไปในทางทุจริตทุกประการ ……



พระพุทธเจ้า
            ตัวท่านนั่นล่ะที่ยังไม่หยุด เพราะยังไม่หยุดฆ่า ไม่หยุดเบียดเบียน
ไม่หยุดแสวงหาในทางที่ผิด ไม่หยุดดำเนินไปในทางทุจริต ในมือของท่าน
ยังถือดาบอยู่ …เหตุใดท่านจึงกล่าวว่าหยุดแล้ว



องคุลิมาล
            วาจาที่ท่านกล่าว เป็นอมตะวาจาที่ไม่เคยมีในที่ใด แม้แต่ที่สำนัก
อาจารย์ของข้า


พระพุทธเจ้า
            อหิงสกะ … สรรพสิ่งทั้งหลาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปเป็นธรรมดา …
ดาบที่เธอเคยถืออยู่ มาบัดนี้เธอวางลงแล้ว อกุศลกรรมเหล่าใดที่มีมา เมื่อหวนระลึกถึงย่อมทำให้จิตนี้เศร้าหมอง



พระพุทธเจ้า
            กุศลกรรมเหล่าใดที่มีมา เมื่อหวนระลึกถึงย่อมทำให้จิตนี้แจ่มใส เบิกบาน
เธอจงหมั่นบำเพ็ญกุศล รักษาศีล รักษาใจให้แจ่มใส เบิกบาน อยู่ทุกขณะเถิด



องคุลิมาล
            นับแต่นี้ไป ข้าพระพุทธองค์ขอถวายตัวในพระพุทธศาสนา ขอพระพุทธองค์
ได้ทรงโปรดบรรพชาให้ด้วยเถิด



พระพุทธเจ้า
            เราอนุญาตให้เธอบรรพชาได้  จงติดตามเรากลับไปยังพระเชตวัน
มหาวิหารเถิด








เทศนาธรรม

สมัยหนึ่งพระบรมศาสดา เสด็จมาประทับ ณ โคนไม้สะเดา ที่ นเฬรุยักษ์
สิงสถิต เวรัญชพราหมณ์ ผู้ครองเมืองเวรัญชาทราบจึงมาเข้าเฝ้าเพื่อทูลถาม
เรื่องที่ได้ยินมาว่า
“พระพุทธองค์ไม่ไหว้ ไม่ลุกขึ้นต้อนรับพราหมณ์ผู้เฒ่า ไม่เชื้อเชิญให้นั่ง
บนอาสนะ ข้อนั้นตนเห็นว่าไม่สมควร”

พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า
“ดูก่อนพราหมณ์ ในโลกนี้หรือโลกอื่น เรายังไม่เล็งเห็นบุคคลที่เราควรไหว้
ควรลุกขึ้นต้อนรับ ควรเชื้อเชิญให้นั่งบนอาสนะด้วยเป็นผู้มีธรรม
เหนือกว่าตถาคต”

          แล้วทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรด เวรัญชพราหมณ์ได้เข้าถึงพระรัตนตรัยและ
ยึดถือเป็นสรณะไปตลอดชีวิต ปฏิญาณตนเป็นอุบาสก พร้อมทูลอาราธนาให้จำพรรษา
อยู่ในเมืองเวรัญชา


ที่มาจากพระไตรปิฎก อรรถกถาและคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง





 บทภาพยนตร์



เวรัญชพราหมณ์
            เราคือเวรัญชพราหมณ์ เป็นพราหมณ์ผู้ครองเมืองเวรัญชาแห่งนี้
ได้ยินกิตติศัพท์ว่าท่าน เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงอยากจะมา
สนทนาธรรมด้วย … แต่เหตุใดเรามาถึงที่นี่แล้ว ท่านไม่ยอมไหว้เราผู้สูงอายุกว่า
หนำซ้ำยังไม่ลุกขึ้นต้อนรับ และไม่เชื้อเชิญให้เรานั่งบนอาสนะเท่าเทียมท่าน


พระพุทธเจ้า
            ท่านเวรัญชพราหมณ์ ในโลกนี้หรือโลกอื่น เรายังไม่พบบุคคลที่เราควรไหว้
ควรลุกขึ้นต้อนรับ … ควรเชื้อเชิญให้นั่งบนอาสนะ ด้วยเป็นผู้มีธรรมเหนือกว่าเรา


เวรัญชพราหมณ์
            เท่าที่ท่านประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ เราเห็นว่าท่านเป็นผู้ไม่มีรส


พระพุทธเจ้า
            ท่านพราหมณ์ … เราเป็นผู้ไม่มีรส เพราะรสในกามคุณ คือ รูป รส กลิ่น เสียง
และสิ่งที่มากระทบกาย เราได้ละแล้ว…แต่มิใช่ผู้ไม่มีรสอย่างที่ท่านเข้าใจ


เวรัญชพราหมณ์
            ท่านเป็นผู้ไม่มีสมบัติ ท่านเป็นผู้กล่าวการไม่ทำ ท่านเป็นผู้ขาดสูญ
  นอกจากนี้เรายังเห็นว่าท่านยังเป็นผู้มักเกลียดอีกด้วย


พระพุทธเจ้า
            ท่านพราหมณ์ … เราเป็นผู้ไม่มีสมบัติ หรือโภคะ  เพราะสิ่งนั้นคือ รูป รส กลิ่น
เสียง และสิ่งที่มากระทบกาย … ท่านพราหมณ์ … เราเป็นผู้กล่าวการไม่ทำ คือ
การไม่ทำบาป ไม่ทำชั่วทั้งกาย วาจา และใจ .. เราเป็นผู้กล่าวถึงความขาดสูญ
แห่งราคะ โทสะ และโมหะ…ท่านพราหมณ์ … เราเป็นผู้มักเกลียด กายทุจริต วจีทุจริต
มโนทุจริต…เราเกลียดบาปอกุศลทั้งปวง…แต่มิใช่ผู้มักเกลียดอย่างที่ท่านเข้าใจ


เวรัญชพราหมณ์
           งั้นท่านก็เป็นผู้กำจัด เป็นผู้เผาผลาญ หนำซ้ำท่านยังเป็นผู้ไม่ผุดไม่เกิด


พระพุทธเจ้า
            ท่านพราหมณ์ …เราเป็นผู้แสดงธรรมเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะ
และกำจัดบาปอกุศลทั้งมวล … เราเป็นผู้เผาผลาญกายทุจริต  วจีทุจริต มโนทุจริต
ด้วยเป็นสิ่งที่ ควรเผาผลาญ … เราเป็นผู้ไม่ผุดไม่เกิด เพราะได้ละ ได้ทำให้ไม่มี
อีกต่อไป เหล่านี้คือความหมายที่แท้จริง ไม่ใช่ความหมายอย่างที่ท่านเข้าใจ
….ดูก่อนท่านเวรัญชพราหมณ์ ท่านจงสดับธรรมเทศนาจากเราเถิด …




พระพุทธเจ้า
           การส่งจิตออกไปภายนอก เพ่งโทษผู้อื่นนั้นคือเหตุ และมีทุกข์เป็นผล …
การพิจารณาตนเอง คือ จิตดูจิตของตน เป็นมรรค มีนิโรธ คือการดับทุกข์เป็นผล



เวรัญชพราหมณ์
           พระธรรมเทศนาที่ทรงแสดง ได้ชี้ทางสว่างให้แก่ข้าพระองค์  นับแต่นี้ไป
ข้าพระองค์ขอยึดถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ขอพระองค์ได้จำพรรษา
อยู่ในเมืองเวรัญชา เพื่อแสดงธรรมโปรดชาวเมืองของข้าพระองค์ด้วยเถิด