วันอังคารที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2560

อาหารบิณฑบาตมื้อแรก


ณ ป่ามะม่วง ชื่อ อนุปิยอัมพวัน พระองค์เสด็จไปประทับพักแรมในที่นั้น
เสวยสุขอันเกิดจากการบรรพชา โดยมิได้เสวยพระกระยาหารเลยตลอด ๗ วัน
ในวันที่ ๘ เสด็จออกจากป่ามะม่วง จาริกไปโดยลำดับ ถึงกรุงราชคฤห์ เสด็จเข้าไป
บิณฑบาตภายในพระนคร ประชาชนทั้งหลายได้ชมพระสิริโฉมของพระองค์
แล้วเกิดปีติโสมนัส



            จากนั้นพระองค์ทรงหยุดประทับ ณ หน้าผาอันร่มรื่นแห่งหนึ่ง   ทอดพระเนตร
อาหารในบาตร  เห็นว่าไม่สะอาด ไม่ประณีต เหมือนที่เคยเสวยในพระราชวัง
จึงประทานโอวาทแก่พระองค์เองว่า
            “ดูก่อนสิทธัตถะ  บัดนี้ท่านเป็นบรรพชิต  อยู่ในสมณสารูป
เที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีพ สรรพสิ่งทั้งหลายย่อมเป็นไปตามปัจจัยที่ปรุงแต่งขึ้น
ดั่งอาหารบิณฑบาตนี้ ก็เปรียบประดุจดังธาตุที่ถูกนำมาปรุงแต่งเช่นเดียวกัน”
ครั้นให้โอวาทแก่พระองค์เองฉะนี้แล้ว  จึงเสวยภัตตาหารนั้น



            พระเจ้าพิมพิสาร ทรงทราบและบังเกิดศรัทธาในคุณสมบัติพระจริยาวัตร
เมื่อได้ตรัสสนทนาไต่ถามไปตามลำดับก็ทรงดำริในพระทัยว่า
            “ชะรอยเจ้าชายสิทธัตถะ จะมีความวิวาทบาดหมางกับพระประยูรญาติ
ด้วยเรื่องราชสมบัติเป็นแน่แท้”
จึงทรงรับสั่งขึ้นว่า
            “ข้าพเจ้าจะแบ่งสมบัติพร้อมทั้งแว่นแคว้นให้พระองค์กึ่งหนึ่ง
ขอจงช่วยกันปกครองดูแลขอบขัณฑสีมา และประชาราษฏร์ให้ผาสุกด้วยกัน
ในประเทศนี้เถิด”

พระองค์ตรัสตอบพระเจ้าพิมพิสารและบอกความเป็นมาของพระองค์ว่า
            “อาตมภาพสละราชสมบัติแห่งพระเจ้าจักรพรรดิซึ่งกำลังจะมาถึง
ในไม่ช้านี้ออกผนวช เพื่อมุ่งหมายต่อพระสัมมาสัมโพธิญาณ”

พระเจ้าพิมพิสารได้สดับก็ตรัสอนุโมทนาแล้วทูลขอปฏิญญาว่า
            “ถ้าพระองค์ได้ บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ขอพระองค์เสด็จมา
เพื่อเทศนาโปรดข้าพเจ้าและชาวกรุงราชคฤห์ด้วยเถิด”



            ต่อจากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปศึกษาในสำนักของ อาฬารดาบส กาลามโคตร
และอุทกดาบส รามบุตร จนสำเร็จสมาบัติ ๗ และสมาบัติ ๘ โดยลำดับ



ที่มาจากพระไตรปิฎก อรรถกถาและคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง



บทภาพยนตร์



บรรยาย
            เมื่อพระองค์เดินจากฉันนะมาแล้ว  ได้ประทับพักแรมอยู่ที่ป่ามะม่วง
ไม่ได้เสวยพระกระยาหารตลอดเจ็ดวัน


บรรยาย
            ...ครั้นถึงวันที่แปดจึงเสด็จออกจากป่ามะม่วงเข้าไปบิณฑบาต
ในกรุงราชคฤห์...


บรรยาย
            ชาวเมืองทั้งหลายได้เห็นพระองค์แตกต่างจากนักบวชทั่วไป    เพราะ
มีพระสิริโฉมงดงาม บุคลิกสงบเงียบน่าเลื่อมใส    ต่างพากันชื่นชมและพูดคุยต่อๆ
กันไปว่า งามเปรียบดั่งเทพจากสวรรค์เสด็จลงมาปรากฏให้มนุษย์ได้ชม


บรรยาย
            เมื่อบิณฑบาตได้อาหารพอประมาณแล้ว จึงเสด็จกลับ..


บรรยาย
            ประทับนั่งพิจารณาอาหารในบาตรที่ผู้คนใส่มา   ปะปนกันหลายอย่าง
จนไม่น่าเสวย


พระพุทธเจ้า
            เมื่อก่อนเคยเสวยแต่อาหารที่ปรุงอย่างประณีต และเลิศรส     เมื่อออกบวช
เป็นบรรพชิตแสวงหาสัจธรรมแล้ว จะมัวเลือกอาหารไปทำไม   กันอาหารนี้เป็นเพียง
ปัจจัยปรุงแต่งเพื่อเลี้ยงชีพเท่านั้น


บรรยาย
            ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์ผู้ครองกรุงราชคฤห์  เมื่อได้รับทราบคำกราบทูล
จากราชบุรุษที่ให้ติดตามสะกดรอยบรรพชิตที่ชาวเมืองต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่า..
มีรูปลักษณะงาม ประหนึ่งเทพยดา      แล้วจึงเสด็จมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง
ก็ได้เห็นอิริยาบถอันสงบงดงาม จนเกิดความเลื่อมใสพอได้สนทนาก็ยิ่งทรงปลาบปลื้ม
พระทัยเป็นอย่างมาก แต่ด้วยยังทรงมีข้อกังขาว่า เจ้าชายสิทธัตถะคงจะทรงพิพาท
กับพระประยูรญาติด้วยเรื่องราชสมบัติเป็นเหตุให้เสด็จออกบวช        จึงเชื้อเชิญ
ให้เสวยราชสมบัติ     แต่พระมหาบุรุษทรงปฏิเสธ  ด้วยทรงสละราชสมบัติ
ออกบวชครั้งนี้  เพื่อค้นหาทางแห่งการพ้นทุกข์


พระเจ้าพิมพิสาร
            ท่านมีความมุ่งมั่นเช่นนี้ เราเชื่อว่าท่านจะต้องได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
แน่นอน และเมื่อใดที่บรรลุแล้วขอให้ได้เสด็จมาแสดงธรรมโปรดเรา
และชาวกรุงราชคฤห์ด้วยเถิด


หมายเหตุ
            ช่วงพระพุทธเจ้ารับคำ การ์ตูนสื่อด้วยท่าทางอันสงบ


บรรยาย
            พระมหาบุรุษได้เสด็จไปยังสำนักอาฬารดาบสกาลามโคตร   เพื่อศึกษาวิชา
และข้อปฏิบัติ   เพียงไม่นานก็สำเร็จสิ้นความรู้ของอาฬารดาบส      จึงได้อำลา
ไปศึกษาต่อยังสำนักของอุทกดาบสรามบุตร จนสิ้นความรู้ของอุทกดาบสรามบุตรอีก
และเมื่อถามถึง   ธรรมวิเศษที่ยิ่งไปกว่านั้น อุทกดาบสก็ไม่สามารถบอกได้และ
ตั้งให้พระมหาบุรุษอยู่ในฐานะอาจารย์เทียบเท่ากับตนเอง


บรรยายต่อ
            เมื่อพระมหาบุรุษทรงเห็นว่าวิชาที่ศึกษานั้นไม่ใช่หนทางให้หลุดพ้น
จากความทุกข์ที่พระองค์แสวงหา จึงขอลาเพื่อค้นหาธรรมวิเศษต่อไป



บรรยาย
            พระมหาบุรุษเสด็จบรรลุถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม    ทรงพิจารณาเห็น
แนวป่าร่มรื่น มีแม่น้ำไหลผ่านและอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก เหมาะที่จะใช้
เป็นสถานที่บำเพ็ญเพียรจึงประทับอยู่ ณ ที่นั่นเอง










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น