วันอังคารที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2560
ดับขันธปรินิพพาน
ในสมัยนั้นมีปริพาชกผู้หนึ่งนามว่า สุภัททะ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลชาวเมือง
กุสินารา ปรารถนาจะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อทูลถามข้อข้องใจในธรรม เกี่ยวกับลัทธิ
ของครูทั้ง ๖ ซึ่งต่างอ้างว่าเป็นผู้ได้ตรัสรู้ธรรมสำเร็จอรหันต์นั้น สมคำปฏิญาณจริง
หรือไม่ พระพุทธองค์เห็นว่าเวลาเหลือน้อย จึงตรัสห้ามและทรงแสดงอริยมรรค
มีองค์ ๘ โปรด สุภัททปริพาชกเกิดความเลื่อมใสกล่าวสรรเสริญพระธรรมเทศนา
ทูลขอบรรพชาในพระพุทธศาสนา ได้บรรลุพระอรหัตผลในราตรีนั้น นับเป็นพุทธสาวก
องค์สุดท้ายที่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทันพระชนม์ชีพของพระบรมศาสดา
ประทานปัจฉิมโอวาท
เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดสุภัททปริพาชกแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสแก่
พระอานนท์ว่าให้ภิกษุทั้งหลายลงพรหมทัณฑ์ต่อพระฉันนะ อดีตมหาดเล็กผู้ถือว่าตน
มีความสำคัญกว่าผู้ใด จึงเป็นผู้ว่ายากสอนยาก ไม่ยอมฟังคำของพระเถระอื่นๆ การลง
พรหมทัณฑ์ คือ ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงให้โอวาท ไม่พึงสั่งสอน
ไม่พึงเจรจาคำใด ๆ ด้วยทั้งสิ้น ภายหลังพระฉันนะจึงยอมสำนึกตัวและในที่สุดได้
ปฏิบัติธรรมจนบรรลุพระอรหัตผล ต่อมาพระพุทธองค์ได้ประทานโอวาท
แก่ภิกษุทั้งหลายว่า
“เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ไม่ควรคิดว่าพระศาสดาของเราปรินิพพานแล้ว
พระศาสดาของเราไม่มี ด้วยแท้ที่จริง ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่ตถาคตแสดง
และบัญญัติไว้ จะเป็นศาสดาแทนตถาคต”
และได้ประทานปัจฉิมโอวาทว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ ตถาคตขอเตือน
เธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลาย เสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลาย
จงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”
“ภิกษุทั้งหลาย สติ เมื่อเกิดขึ้นก็รู้ว่า ธรรมเหล่านี้มีประโยชน์ ธรรมเหล่านี้
ไม่มีประโยชน์ ธรรมเหล่านี้มีอุปการะ ธรรมเหล่านี้ไม่มีอุปการะ ลำดับนั้น
พระโยคาวจรก็กำจัดธรรมอันไม่มีประโยชน์เสีย ถือเอาธรรมที่มีประโยชน์
ละธรรมที่ไม่มีอุปการะเสียถือเอาแต่ธรรมที่มีอุปการะ ดังนี้”
ดับขันธปรินิพพาน
เมื่อพระบรมศาสดาประทานปัจฉิมโอวาทเป็นวาระสุดท้ายแล้วก็มิได้ตรัสอะไรอีกเลย
ทรงเข้าอนุปุพพวิหารสมาบัติทั้ง ๙ โดยอนุโลมและปฏิโลม ดังนี้
ทรงเข้าปฐมฌาน (รูปฌานที่ ๑) ออกจากปฐมฌานแล้ว
ทรงเข้าทุติยฌาน (รูปฌานที่ ๒) ออกจากทุติยฌานแล้ว
ทรงเข้าตติยฌาน (รูปฌานที่ ๓) ออกจากตติยฌานแล้ว
ทรงเข้าจตุตถฌาน (รูปฌานที่ ๔) ออกจากจตุตถฌานแล้ว
ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว
ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนะแล้ว
ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนะแล้ว
ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว
ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติที่ ๙ อันเป็น นิโรธสมาบัติ ที่มีอาการสงบที่สุด
ถึงดับสัญญาและเวทนา คือ ไม่รู้สึกทั้งกายทั้งใจทุกประการ แม้ลมหายใจเข้าออก
ก็หยุดสงบยิ่งกว่านอนหลับ จากนั้นเสด็จออกจาก สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ
ถอยเข้าสู่เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือถอยตามลำดับจนถึงปฐมฌาน แล้วย้อนจาก
ปฐมฌานขึ้นไปสู่ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานเป็นลำดับสุดท้าย
จึงดับขันธปรินิพพาน
หลังจากที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ได้บังเกิดมหัศจรรย์แผ่นดินไหว กลองทิพย์บรรเลงเสียงกึกก้องกัมปนาท
ท้าวสหัมบดีพรหม ท้าวโกสีย์สักกเทวราช พระอนุรุทธเถระและพระอานนท์เถระ
เป็นอาทิ ได้กล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงความไม่เที่ยง
แห่งสังขาร ด้วยความเคารพเลื่อมใส เหล่ามหาชนพุทธบริษัททั้งหลายที่ประชุมกันอยู่
ณ สาลวันนั้นต่างก็โศกเศร้าร้องไห้ร่ำไรรำพัน พระอนุรุทธเถระและพระอานนท์เถระ
ได้แสดงธรรมกถาปลอบ เพื่อให้คลายความเศร้าโศกโทมนัส
การถวายพระเพลิงพระบรมศพ
เหล่ามัลลกษัตริย์ทั้ง ๘ ร่วมกับพระเถระผู้ใหญ่ มีพระอนุรุทธเถระ และ
พระอานนท์เถระเป็นต้น ได้ให้ตั้งพระบรมศพไว้เป็นเวลา ๗ วัน ณ อุทยานสาละ
อันเป็นสถานที่ปรินิพพานเพื่อรอพระเถระที่เดินทางมาจากทิศต่างๆ ในวันที่ ๘
จึงได้จัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพขึ้น ณ มกุฏพันธนเจดีย์ กรุงกุสินารา แคว้นมัลละ
อันเป็นมงคลสถานสูงสุดของเมืองกุสินารา และได้ทำการถวายพระเพลิงใน
วันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งชาวพุทธเรียกว่าวันอัฏฐมีบูชา ในครั้งแรกเมื่อจัดให้
มีการถวายเพลิงพระบรมศพปรากฏว่าไฟไม่ติด ครั้นเมื่อพระมหากัสสปเถระ
พร้อมภิกษุสงฆ์ผู้เป็นศิษย์อีก ๕๐๐องค์เดินทางจากปาวานครมาถึง ได้กราบนมัสการ
พระบรมยุคลบาทแล้วได้เกิดเพลิงลุกขึ้นเองเป็นอัศจรรย์
ครั้นพิธีถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว มัลลกษัตริย์ได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
ณ สัณฐาคารศาลา อันเป็นที่ประชุมกลางเมือง ถวายสักการะเป็นเวลา ๗ วัน
มีเจ้าครองนครต่างๆ ได้ส่งทูตมาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุไว้ในสถูปเจดีย์
ไว้สักการะบูชายังเมืองของตน โทณพราหมณ์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้จัดแบ่ง
ให้แก่กษัตริย์ทั้ง ๘ เมือง ดังนี้
๑. พระเจ้าอชาตศัตรู แห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
๒. เจ้าลิจฉวี แห่งเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี
๓. เจ้าศากยะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ
๔. ถูลิกษัตริย์ แห่งเมืองอัลลกัปปะ
๕. โกลิยกษัตริย์ แห่งเมืองรามคาม แคว้นโกลิยะ
๖. มหาพราหมณ์ แห่งเมืองเวฏฐทีปกะ
๗. มัลลกษัตริย์ แห่งเมืองปาวา แคว้นมัลละ
๘. มัลลกษัตริย์ แห่งเมืองกุสินารา แคว้นมัลละ
สำหรับตุมพะ คือทะนานที่ใช้ตักแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ โทณพราหมณ์
ได้นำไปบรรจุในพระสถูปเรียกว่า ตุมพสถูป
ที่มาจากพระไตรปิฎก อรรถกถาและคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง
บทภาพยนตร์
พระอานนท์ (เสียงก้องในความคิด)
สุภัททะ จะขอเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ให้ได้ … นี่เหล่ามัลลกษัตริย์
แต่ละสกุลก็เพิ่งจะเข้าเฝ้าไปเสร็จเรียบร้อยทุกพระองค์ แล้วพระพุทธองค์ก็ทรง
ประชวรหนัก หากเราปล่อยให้พบอีกจะทำให้พระพุทธองค์ ลำบากพระวรกายยิ่งนัก
พระอานนท์
สุภัททะ เราให้ท่านเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ไม่ได้หรอก เวลานี้พระพุทธองค์
ประชวรหนัก ควรได้พักผ่อนบ้าง
พระพุทธเจ้า
อานนท์ … ให้สุภัททะเข้ามาเถิด
สุภัททะ
ในขณะนี้มีสำนักลัทธิที่มีชื่อเสียง มี ผู้เคารพ นับถือมากมายอยู่ถึง ๖ แห่ง
ในบรรดาครูทั้ง ๖ นี้ มีท่านไหนเป็นพระอรหันต์หมดสิ้นกิเลสบ้าง
พระพุทธเจ้า
สุภัททะ ศาสนาใดไม่มีมรรคอันมีองค์แปดประการ สมณะผู้สงบก็ไม่มี
ในศาสนานั้น … หากภิกษุหรือใครก็ตาม ปฏิบัติตามมรรค อันเป็นทางประเสริฐ โลกก็จะไม่พึงว่างจาก พระอรหันต์ เธอจงตั้งใจฟังธรรมะจากเราเถิด
จิตนี้เป็นธรรมชาติที่ผ่องใสมีรัศมีเหมือนดวงจันทร์ แต่ถูกกิเลสที่จรมาเป็นครั้งคราว จิตนี้จึงเศร้าหมองเหมือนก้อนเมฆบดบังดวงจันทร์ให้อับแสง
สุภัททะ
พระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์แสดงนั้นเป็นธรรมอันประเสริฐ ข้าพระพุทธองค์หลงผิดมาเป็นเวลาช้านานขอทรงอนุญาตให้ข้าพระพุทธองค์
บวชในพระพุทธศาสนาด้วยเถิด …
พระพุทธเจ้า
อานนท์ … เธอจงรับเป็นธุระ จัดการบวชให้สุภัททะด้วยเถิด
พระพุทธเจ้า
สุภัททะ … เธอจงพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ...รูป และนามทั้งหลาย
ตามความเป็นจริง คือ ความเปลี่ยนแปลงเน่าเปื่อยไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน
ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ไม่ใช่เขา
ไม่ใช่ของเขา ไม่ใช่ตัวตนของเขา
สุภัททะ...เธอจงดำรงเพศบรรพชิต โดยการถืออาหารบิณฑบาต อาศัย
ผ้าบังสุกุลจีวรอยู่ตาม รุกขมูลเสนาสนะ รักษาสังขารด้วยยาน้ำมูตร
ให้เป็นไปตามอัตภาพอันควรเถิด
เสียงบรรยาย
เมื่อพระสุภัททะ รับกัมมัฏฐานจากพระพุทธองค์แล้ว ได้หลีกออกไปบำเพ็ญ
สมณธรรมด้วยความเพียรเพียงผู้เดียว … และบรรลุเป็นพระอรหันต์ในคืนนั้นเอง
นับเป็นพระสาวกองค์สุดท้ายที่ได้สำเร็จพระอรหันต์ทันพระชนม์ชีพของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้า
ภิกษุทั้งหลาย … เมื่อเราปรินิพพานแล้ว พระธรรมวินัยทั้ง ๘๔,๐๐๐
(แปดหมื่นสี่พัน)พระธรรมขันธ์ จะเป็นครูสอนแทนตัวเรา อย่าได้คิดว่า พระศาสดาของเรา
ปรินิพพานแล้ว ศาสดาของเราจะไม่มีด้วย เพราะแท้จริงแล้ว ธรรมก็ดีวินัยก็ดีที่เราแสดง
และบัญญัติเอาไว้ จะเป็นศาสดาแทนเราต่อไป ภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายจงมีธรรม
และวินัย เป็นที่พึ่งเถิด อย่าได้มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลยแม้ตถาคตก็เป็นแต่เพียง
ผู้บอกทางเท่านั้น
พระอานนท์ (เสียงก้องในความคิด)
พระพุทธองค์จะทรงทอดทิ้งเรา เสด็จปรินิพพานเสียแล้ว เราสู้อุตส่าห์ติดตาม
พระพุทธองค์มานาน แต่ยังไม่ได้บรรลุพระอรหันต์เหมือนกับพระสาวกอื่นๆ เลย
พระอีกรูปหนึ่ง
ท่านอานนท์...พระบรมศาสดาให้มาตามท่านเข้าไปเฝ้า
พระพุทธเจ้า
อานนท์ … มานั่งที่นี่เถิด
พระพุทธเจ้า
อานนท์ … อย่าได้เศร้าโศกเสียใจไปเลย ธรรมดาสังขารทั้งหลาย
ย่อมไม่เที่ยงแท้ถาวร ทุกสิ่งมีเกิดก็ย่อมมีดับสลายลงในที่สุด …
เธอได้ติดตามเฝ้าปรนนิบัติเรามานาน จงอุตส่าห์บำเพ็ญเพียร จะได้บรรลุอรหัตถ์ในไม่ช้า
พระพุทธเจ้า
อานนท์ … ฉันนะ ถือว่าตนเองมีความสำคัญเพราะเคยติดตามเราตั้งแต่
ก่อนออกบวช จึงเป็นผู้ว่ายากสอนยาก เมื่อเราปรินิพพานจะยิ่งว่ายากสอนยากหนักขึ้น
ไม่ยอมฟังพระสาวกอื่นๆ เพราะขาดความยำเกรง ดังนั้นจงทำพรหมทัณฑ์แก่ฉันนะ
พระอานนท์
พรหมทัณฑ์นั้นทำยังไงเหรอ พระพุทธองค์
พระพุทธเจ้า
ภิกษุทั้งหลายไม่ว่ากล่าว ไม่ให้โอวาทไม่สั่งสอน ไม่เจรจาคำใดๆ ด้วยทั้งสิ้น ..
เมื่อฉันนะถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แล้วจะสำนึกตัวเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายและ
จะบรรลุอรหัตถ์ในที่สุด
พระพุทธเจ้า (เสียงก้องกังวานเนื่องจากเป็นการประทานโอวาทครั้งสุดท้าย)
ภิกษุทั้งหลาย ตราบใดที่เธอทั้งหลายยังพร้อมเพรียงประชุมกันอยู่เนืองนิตย์
เคารพในสิกขาบทบัญญัติ ยำเกรงภิกษุ ผู้อาวุโสผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ไม่ทำตน
ให้ตกอยู่ใต้อำนาจแห่งตัณหา พอใจในการอยู่อาศัยเสนาสนะป่า ปรารถนาให้เพื่อน
พรหมจารีมาสู่สำนักและอยู่เป็นสุข ตราบใดที่เธอทั้งหลายไม่หมกมุ่นกับการงาน
มากเกินไป ไม่พอใจด้วยการคุยฟุ้งซ่าน ไม่ชอบใจในการนอนมากเกินควร ไม่ยินดี
ในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นผู้ปรารถนาลามก ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความ
ปรารถนาชั่ว ไม่คบมิตรเลว ไม่หยุดความเพียรพยายามเพื่อบรรลุคุณธรรม
ขั้นสูงขึ้นไปแล้ว ตราบนั้นเธอทั้งหลายจะไม่มีความเสื่อมเลย มีแต่ความเจริญอย่างเดียว
ภิกษุทั้งหลาย … เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมไป
เป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้บริบูรณ์พร้อม
ด้วยความไม่ประมาทเถิด
*******************
บรรยาย
เมื่อพิธีถวายพระเพลิงเสร็จสิ้นแล้ว โทณพราหมณ์ได้รับการคัดเลือก
ให้เป็นผู้จัดแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้แก่กษัตริย์ และพราหมณ์ทั้ง ๘ เมือง
เพื่อนำไปสักการะบูชาที่แคว้นของตน โดยสร้างสถูปเป็นที่ประดิษฐาน
บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ดังนี้
๑. พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงสร้างที่กรุงราชคฤห์
๒. กษัตริย์ลิจฉวี ทรงสร้างที่เมืองเวสาลี
๓. กษัตริย์ศากยะ ทรงสร้างที่กรุงกบิลพัสดุ์
๔. กษัตริย์โมริยะ ทรงสร้างที่เมืองอัลกัปปนคร
๕. กษัตริย์โกลิยะ ทรงสร้างที่รามคาม
๖. กษัตริย์มัลละ ทรงสร้างที่นครปาวา
๗. กษัตริย์มัลลกุสินารา ทรงสร้างที่นครกุสินารา
๘. มหาพราหมณ์ สร้างที่เมืองเวฏฐทีปกนคร
ส่วนโทณพราหมณ์ สร้างสถูปบรรจุทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุที่นครกุสินารา
เรียกกันว่า ตุมพสถูป หรือตุมพเจดีย์
หลังจากพระพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ๓ เดือน พระมหากัสสปะ
เป็นผู้นำคณะภิกษุสงฆ์ กระทำสังคายนาพระธรรมวินัยที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา
ข้างเขาเวภารบรรพตใกล้ กรุงราชคฤห์ มีพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นผู้อุปถัมภ์
การทำปฐมสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งนั้น ๗ เดือนจึงแล้วเสร็จ
***************************************
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น